วันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ความหมายของสารคดี

         สารคดี คือ งานเขียนอย่างสร้างสรรค์ ที่มีลักษณะคล้ายบทความ แต่ไม่ใช่บทความ นักวิชาการได้อธิบายความหมายของสารคดีไว้ต่างๆกันดังนี้

พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 (2546, หน้า 1182) ได้ให้ความหมายของสารคดีไว้ว่า สารคดี [สาระ-] น. เรื่องที่เรียบเรียงขึ้นจากความจริงไม่ใช่จินตนาการ เช่น สารคดีท่องเที่ยว สารคดีชีวประวัติปานฉาย ฐานธรรม (ม.ป.ป., หน้า 51) อธิบายว่า สารคดี คือ การเขียนที่เน้นข้อมูลที่เป็นความจริงมากที่สุด โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ความรู้ และความจริง เพื่อให้เกิดคุณค่าทางปัญญาฉลวย สุรสิทธิ์ (2522, หน้า 259) อธิบายว่า

คำว่า สารคดี ถ้าแยกคำแล้วแปล ก็จะได้ความว่า สาร หมายถึง สำคัญ คดี หมายถึง เรื่อง ถ้าแปลรวมกันก็หมายถึง เรื่องใดที่มีสาระสำคัญ และถ้าเทียบคำนี้ทับคำภาษาอังกฤษจะเท่ากับคำ feature ซึ่งมีรากศัพท์ว่า fact ซึ่งแปลว่า ความจริง เพราะฉะนั้นการเขียนสารคดีจึงหมายถึง การเขียนเรื่องใดๆที่เป็นความจริง มีสาระสำคัญน่ารู้ที่แฝงด้วยความจริง เนื้อหามีสาระสำคัญที่เชื่อถือได้ 

เสาวนีย์ สิกขาบัณฑิต (2533, หน้า 61) กล่าวถึงความหมายของสารคดีว่า สารคดีจะมีลักษณะเนื้อหาสาระเชิงวิชาการที่ใช้รูปแบบไม่เป็นทางการ มีสาระความเพลิดเพลิน และความรู้ ใช้สำนวนภาษาทันสมัย เร้าความสนใจ อยากติดตาม และมีอิสระในการใช้ภาษา

ถวัลย์ มาศจรัส (2545, หน้า 244) อธิบายว่า สารคดี (Non-fiction) คือ งานเขียนที่ยึดถือเรื่องราวจากความเป็นจริงนำมาเขียน เพื่อมุ่งแสดงความรู้ทรรศนะความคิดเห็นเป็นหลัก ด้วยการจัดระเบียบความคิดในการนำเสนอ ผสมผสานในการถ่ายทอดต่อการสนใจใฝ่รู้ของผู้อ่าน เพื่อให้เกิดคุณค่าทางปัญญา

วนิดา บำรุงไทย (2545, หน้า 9) ได้ให้ความหมายของสารคดีไว้ว่า สารคดี คือ เรื่องสร้างสรรค์ (creative) บางครั้งมีความเป็นอัตวิสัย (subjective) เป็นข้อเขียนที่มุ่งให้ความบันเทิง และข่าวสารเกี่ยวกับเหตุการณ์ปัจจุบัน สถานการณ์หรือแง่มุมชีวิตที่น่าสนใจ

สุจิรา ช้างอยู่, วิลาวัลย์ ม่วงเอี่ยม, สุจารี หอมนาน (2546, หน้า 7) กล่าวว่า สารคดีเป็นงานเขียนร้อยแก้วที่มีเนื้อหาหลากหลายโดยผ่านการกลั่นกรองข้อเท็จจริง แล้วนำมาเสนอผ่านภาษาที่มีสีสันชวนอ่าน มีเนื้อหาในการนำเสนอข้อเท็จจริงในรูปแบบการอธิบาย การวิจารณ์ หรืออาจมีเรื่องราวเกี่ยวกับความบันเทิงสอดแทรก

ชลอ รอดลอย (2551, หน้า 3) กล่าวถึงความหมายของสารคดีไว้ว่า สารคดี คือ งานประพันธ์ร้อยแก้วที่ผู้เขียนมุ่งที่จะเสนอความรู้และความจริงเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆเป็นหลัก เพื่อให้ผู้อ่านได้รับทั้งความรู้และความเพลิดเพลินไปพร้อมกันด้วย

ศรี คณปติ (2551, ย่อหน้า 1) ให้ความเห็นว่า สารคดี หมายถึง งานเขียนที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับข้อเท็จจริง เสนอเรื่องราวเกี่ยวกับบุคคลที่มีตัวตนจริง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง มีเจตนาเบื้องต้นในการให้สาระ ความรู้ ความคิด ทั้งนี้ต้องมีกลวิธีการเขียนให้เกิดความเพลิดเพลินด้วย

เกศินี จุฑาวิจิตร (2552, หน้า 259) กล่าวถึงความหมายของสารคดีไว้ว่า สารคดี คือความเรียงที่มุ่งนำเสนอข่าวสารข้อมูลความรู้ และข้อเท็จจริงพร้อมกับให้ความเพลิดเพลิน และความพึงพอใจ ผ่านการใช้ภาษาที่พิถีพิถัน เร้าใจ คมคาย และงดงาม

          จากความหมายข้างต้นสรุปได้ว่า สารคดี คือ งานเขียนสร้างสรรค์ประเภทร้อยแก้ว ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง มุ่งเสนอความรู้ที่น่าสนใจ และความเพลิดเพลินในการอ่าน โดยมีการใช้ภาษาที่ทันสมัย คมคาย งดงาม เร้าความสนใจ อาจเป็นเรื่องเกี่ยวกับบุคคล หรือสถานการณ์


อ้างอิง : http://www.baanjomyut.com/library_2/extension-2/introduction_to_documentary/01.html

ลักษณะของสารคดี

          สารคดีเป็นงานเขียนที่ผู้เขียนมุ่งให้ผู้อ่านได้รับรู้สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในโลก จึงเป็นข้อมูล เรื่องราวที่เป็นเรื่องจริง มีรูปแบบการนำเสนอที่ไม่เจาะลึกด้านเนื้อหา และมีลีลาการเขียนที่สร้างความเพลิดเพลินแก่ผู้อ่าน ซึ่งมีความแตกต่างจากงานเขียนประเภทอื่นๆลักษณะของสารคดี มีดังนี้
1. ความคิดสร้างสรรค์ (creativity) ในการเขียนสารคดี ผู้เขียนมีอิสระที่จะใช้ความสามารถในการผูกเรื่อง ลำดับความตามที่ต้องการ
2. ความเป็นอัตวิสัย (subjectivity) ผู้เขียนสามารถถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึก ความนึกคิดของตนให้ผู้อื่นได้ทราบ โดยเลือกใช้ภาษาให้เหมาะสม
3. ความมีสาระ (informativeness) สารคดีเป็นงานเขียนที่นำเสนอข้อมูล เรื่องราวที่เป็นเรื่องจริง ข้อเท็จจริง ซึ่งความจริงบางเรื่องไม่มีคุณสมบัติพอที่จะเขียนเป็นข่าว แต่สามารถนำมาเขียนเป็นสารคดี ที่ให้สาระและแง่คิดได้
4. ความบันเทิง (entertainment) ผู้เขียนมุ่งให้ความรู้ที่น่าสนใจ และความเพลิดเพลินแก่ผู้อ่าน ซึ่งเป็นการผ่อนคลายความเครียดจากการอ่านข่าว
5. ความไม่ล้าสมัย (unperishable) สารคดีนั้นเป็นงานเขียนที่ไม่ต้องคำนึงถึงข้อจำกัดด้านเวลา ซึ่งแตกต่างจากข่าวที่ต้องสด รวดเร็วต่อเหตุการณ์

          จะเห็นได้ว่าสารคดีนั้นเป็นงานเขียนที่มีลักษณะเฉพาะตัว ที่แตกต่างจากงานเขียนประเภทอื่น เพราะมีการนำเสนอข้อมูล เรื่องราวที่เป็นข้อเท็จจริง มีรูปแบบการนำเสนอที่ไม่เจาะลึกด้านเนื้อหา จึงทำให้สารคดีนั้นเป็นงานเขียนที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

อ้างอิง : http://www.baanjomyut.com/library_2/extension-2/introduction_to_documentary/02.html

ประเภทของสารคดี

สารคดีสามารถจำแนกออกเป็นประเภทใหญ่ได้ 3 ประเภท ดังนี้
1. สารคดีประวัติบุคคล
สารคดีบุคคลแบ่งได้ 2 ประเภทได้แก่
     - สารคดีอัตชีวประวัติ หมายถึง สารคดีที่เจ้าของประวัติเขียนเล่าประวัติและเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับตนเอง
     - สารคดีชีวประวัติ หมายถึง สารคดีที่มีผู้อื่นกล่าวถึง อาจเป็นชีวประวัติรวมหลายๆชีวิตในเล่มเดียว หรืออาจเป็นชีวประวัติของบุคคลเดียวก็ได้
2. สารคดีท่องเที่ยว 
สารคดีท่องเที่ยว เป็นสารคดีที่เล่าเรื่องราวการเดินทางไปในสถานที่ต่างๆมุ่งให้ความรู้แก่ผู้อ่านในด้านภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ความเป็นอยู่ของผู้คน รวมทั้งรายละเอียดปลีกย่อยที่เป็นคู่มือการเดินทาง เช่น เส้นทางการเดินทาง ที่พัก อาหาร ฯลฯ นอกจากนั้นผู้เขียนมักให้ข้อสังเกต และแสดงทัศนะต่อสิ่งที่พบเห็นไว้ด้วย 
3. สารคดีแนะนำ
สารคดีแนะนำจะมีเนื้อหาหลากหลาย ครอบคลุมการดำเนินชีวิตของมนุษย์ทุกแง่มุม ตั้งแต่เรื่องปัจจัยสี่ การประกอบอาชีพ จนถึงการพักผ่อนหย่อนใจ


อ้างอิง : http://www.baanjomyut.com/library_2/extension-2/introduction_to_documentary/03.html

องค์ประกอบของสารคดี

การเขียนสารคดีนั้นประกอบไปด้วยส่วนต่างๆดังนี้

        1. ส่วนนำเรื่อง ในการเขียนส่วนนำเรื่อง หรือความนำนั้นสามารถเขียนได้หลายแบบ (มาลี บุญศิริพันธิ์, 2535, หน้า 42; วนิดา บำรุงไทย, 2545, หน้า 44) ดังนี้
             ความนำแบบสรุปประเด็น คือ การสรุปสาระสำคัญทั้งหมด โดยมีหลักการทั่วไปมักประกอบด้วยคำหลัก คือ ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร ทำไม และอย่างไร
             ความนำประเภทพรรณนา หรืออธิบาย คือ การพรรณนาถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้มองเห็นคุณลักษณะของสิ่งนั้นๆให้ชัดเจนยิ่งขึ้น อาจเป็นสถานที่ บุคคล หรือวัสดุสิ่งของที่มีความเกี่ยวข้องต่อประเด็นเรื่องที่เขียน
             ความนำแบบกระทบความรู้สึก คือ การใช้โวหาร เนื้อความที่เร้าอารมณ์ หรือภาษาที่รุนแรงกระทบความรู้สึกของผู้อ่านทันที ทำให้ผู้อ่านสามารถสร้างความรู้สึกบางอย่างต่อเหตุการณ์นั้นๆ
             ความนำที่เป็นสุภาษิต คำกลอน หรือบทกวี คือ การยกเอาคำกลอน สุภาษิต หรือบทกวีที่มีเนื้อความเข้ากันมาขึ้นต้น แทนการอธิบายหรือพรรณนา
             ความนำประเภทคำถาม คือ การตั้งคำถามหรือประเด็นปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่ง ควรมีลักษณะกระชับ และประเด็นที่เด่นชัด
              ความนำด้วยเรื่องเล่า หรือเหตุการณ์ คือ การนำเรื่องด้วยเรื่องเล่าสั้นๆอาจเป็นเกร็ดที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง หรือการนำเหตุการณ์ เรื่องราวมาเกริ่นนำ
              ความนำประเภทบรรยาย คือ การให้รายละเอียดของเหตุการณ์ โดยการบรรยายแต่ละฉากอย่างละเอียดตามด้วยการแสดงความต่อเนื่องของเหตุการณ์
              ความนำที่เป็นข่าว คือ การใช้ข่าว หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นการนำเรื่อง
             ความนำแบบคุยกับผู้อ่านโดยตรง คือ การที่ผู้เขียนใช้สรรพนามแทนตัวเองกับผู้อ่าน นิยมใช้คำว่า “ผม” “คุณ
             ความนำประเภทหยอกล้อ คือ ความนำที่เขียนโดยไม่เจตนาให้ผู้อ่านทราบเรื่องราวในทันที มีลักษณะผ่อนคลาย ยั่วเย้าใครบางคน ใช้ภาษาเบาๆไม่เคร่งเครียด
             ความนำที่ตรงกันข้าม คือ การนำด้วยเหตุการณ์ บุคคล หรือสถานที่ที่ตรงกันข้ามกับสาระ หรือประเด็นของเรื่อง
             ความนำที่อ้างถึงภูมิหลัง คือ การนำเรื่องด้วยความเดิมหรือประวัติความเป็นมาของเรื่อง
        2. เนื้อเรื่อง คือ การลำดับเหตุการณ์ เรื่องราวต่างๆในลักษณะ (วนิดา บำรุงไทย, 2545, หน้า 106; สุภิตร อนุศาสน์ทัศนีย์ กระต่ายอินทร์และมานิตา ศรีสาคร, 2552, หน้า 5) ดังนี้
             เสนอตามลำดับเวลา คือ ลำดับไปตามอายุ หรือการเผชิญเหตุการณ์เรื่องราวต่างๆของเจ้าของประวัติ
             เสนอตามการลำดับเหตุการณ์หรือประสบการณ์ คือ การจัดเหตุการณ์หรือเรื่องราวที่สำคัญ หรือน่าสนใจมาขึ้นต้นก่อน หรืออาจจัดเป็นกลุ่มประสบการณ์ เหมาะที่จะเขียนเล่าเรื่องหรืออธิบายเรื่องประเภทให้ความรู้
             เสนอเนื้อหาโดยโครงสร้างประเด็น การลำดับเนื้อหาแบบนี้มักใช้กับเนื้อเรื่องที่มีการแสดงเหตุผลหรือเสนอความคิดเห็น อาจเรียกอีกอย่างว่าเป็นการเสนอโดยจัดประเด็นหรือกำหนดกลุ่มเรื่อง กลุ่มความคิด
             เสนอตามการจัดลำดับสถานที่ คือการจัดระเบียบความคิดโดยลำดับตามสถานที่ ผู้เขียนจะเขียนลำดับจากตำแหน่งหนึ่งไปสู่ตำแหน่งอื่นๆ
             เสนอตามการจัดลำดับความสัมพันธ์ คือ การจัดลำดับความคิดตามขั้นตอนที่เชื่อมโยงเป็นเหตุเป็นผลกัน
        3. ส่วนท้าย ส่วนท้ายหรือความจบนั้นผู้เขียนสามารถเลือกเขียนได้หลายแบบ (มาลี บุญศิริพันธิ์, 2535, หน้า 42; วนิดา บำรุงไทย, 2545, หน้า 44) ดังนี้
             จบแบบสรุปความ คือ การจบด้วยการสรุปประเด็นสำคัญอีกครั้งโดยโยงถึงความนำในตอนต้นด้วย
             จบแบบคาดไม่ถึง คือ การจบอย่างพลิกความคาดหมาย มักนิยมใช้ในสารคดีเชิงข่าว หรือสารคดีประเภทอารมณ์
             จบแบบคลี่คลายประเด็น คือการจบโดยทำให้ประเด็นนั้นกระจ่างชัดเจน ผู้อ่านไม่มีข้อเคลือบแคลงสงสัย
             จบแบบให้คิดต่อ คือ การจบแบบเน้นประเด็นสำคัญของเรื่อง โดยทิ้งปริศนาให้ผู้อ่านขบคิด
สารคดีมีส่วนประกอบ 3 ส่วน คือ
-ส่วนนำเรื่อง
-เนื้อหา
-ส่วนท้าย

             ในการเขียนผู้เขียนสามารถเลือกใช้วิธีการนำเรื่อง การลำดับเนื้อเรื่อง และการจบเรื่องได้หลายแบบตามความเหมาะสม

อ้างอิง :  http://www.baanjomyut.com/library_2/extension-2/introduction_to_documentary/04.html

ลักษณะของสำนวนการเขียนที่ดีสำหรับการเขียนสารคดี

               1.  ความหมายชัดเจน  เป็นลักษณะสำคัญที่สุด  เพราะถ้าเขียนไม่ชัดเจน  ผู้อ่านจะตีความหมายผิดไปจากจุดประสงค์ได้ ก่อนที่จะลงมือเขียนต้องคิดแล้วคิดอีกจนกว่าความคิดนั้นแจ่มแจ้งอยู่ในสมอง แล้วจึงเขียนด้วยถ้อยคำสั้นๆ  ใช้ประโยครัดกุม  แต่ละย่อหน้าไม่ควรเขียนยาวนัก  ไม่ควรเขียนทุกๆ  อย่างลงไปในย่อหน้าเดียว สิ่งสำคัญที่จะทำให้งานเขียนสารคดีเกิดความชัดเจนคือ  ควรรู้จักแบ่งย่อหน้า  ไม่ควรเขียนเนื้อหามากเกินไป  และไม่ควรเขียนยาวเกินไป  เพื่อให้ผู้อ่านได้มีเวลาหยุดพักสายตา  และที่สำคัญ  ย่อหน้าหนึ่งๆ  ควรมีใจความสำคัญเพียงอย่างเดียว
                วิธีทดสอบความชัดเจนคือ  ผู้เขียนควรจะสมมุติตนเองเป็นผู้อ่านไปด้วยว่าสามารถเข้าใจมากน้อยเพียงไร  หรือลองนำไปอ่านให้ผู้อื่นฟัง
                2.  ความกะทัดรัด  การเขียนสารคดีจะต้องตัดข้อความที่ฟุ้มเฟือยออกไป  ควรเขียนให้สั้นกะทัดรัดและได้ใจความสมบูรณ์
                3.  ความสุภาพ  การเขียนสารคดีนั้น จะต้องระมัดระวังให้มากในเรื่องความสุภาพในการใช้ถ้อยคำ  ผู้ที่เริ่มเขียนหนังสือไม่ควรจะเอาอย่างนักเขียนที่มีชื่อเสียงแล้วในแง่ที่ตามใจ ตนเองโดยไม่คำนึงถึงผู้อ่าน เพราะการเขียนสารคดี  จะใช้ภาษาเป็นระดับแบบแผนเป็นส่วนใหญ่

อ้างอิง : https://www.gotoknow.org/posts/331335

จุดมุ่งหมายในการเขียนสารคดี

                จุดมุ่งหมายที่ผู้เขียนควรพิจารณามีอยู่ 4 ประการคือ
                1.ให้ความรู้  ข้อเท็จจริง  และเนื้อหาสาระแก่ผู้อ่าน  ผู้เขียนจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่จะเขียนอย่างละเอียดและลึกซึ้ง
                2.ให้คำแนะนำแก่ผู้อ่านในการนำไปปฏิบัติได้จริง  ผู้เขียนสารคดีจะต้องมีความรู้อย่างละเอียด  และมีความชำนาญในการปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องที่เขียนด้วย  เพื่อจะได้คำแนะนำแก่ผู้อ่านโดยถูกวิธี  และถูกขั้นตอน
                3.ให้ความเพลิดเพลินแก่ผู้อ่าน  ผู้เขียนจะต้องทำให้ผู้อ่านได้รับความเพลิดเพลินด้วย  วิธีจะให้ความเพลิดเพลินแก่ผู้อ่านนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก  ผู้เขียนสารคดีจะต้องมีความสามารถเฉพาะตัวด้วยประการต่างๆ  เช่น  การใช้สำนวนภาษาที่ชวนให้ผู้อ่านมีความสนุกสนาน  หรือใช้สำนวนภาษาที่มำให้ผู้อ่านมีความคิดเห็นคล้อยตามอยู่ตลอดเวลา  และได้รับความรู้โดยไม่รู้ตัว
                4.ให้ความจรรโลงใจแก่ผู้อ่าน  ผู้เขียนสารคดีจะต้องพิจารราถึงเรื่องที่จะเขียนว่าเป็นเรื่องที่ดีสร้างสรรค์เพียงใด  หรือจะส่งผลกระทบต่อสังคมในแง่ใดบ้าง

                สรุปได้ว่า  จุดมุ่งหมายที่สำคัญของการเขียนสารคดี คือ ให้ความรู้ข้อเท็จจริง และเนื้อหาสาระแก่ผู้อ่าน  นอกจากนี้ยังให้คำแนะนำในการปฏิบัติที่เป็นประโยชน์  ให้ความเพลิดเพลิน  และให้ความจรรโลงใจ

อ้างอิง : https://www.gotoknow.org/posts/331335

จุดประสงค์ในการศึกษาวิชาการเขียนสารคดี

1.    มีความรู้  ความเข้าใจ  เกี่ยวกับความหมายของสารคดี  ประวัติและวิวัฒนาการของสารคดีไทย
2.    ทราบถึงจุดมุ่งหมายของการเขียนสารคดี
3.    มีความรู้  ความเข้าใจ  สำนวนภาษา  โวหาร  ที่ใช้ในการเขียนสารคดีและนำไปใช้ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
4.    มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักและวิธีการเขียนสารคดีประเภทต่างๆ และสามารถนำไปเขียนได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
5.    สามารถนำความรู้ไปเขียนสารคดีชีวประวัติและอัตชีวประวัติได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
6.    สามารถนำความรู้ไปเขียนสารคดีประเภทความเรียงได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
7.    สามารถนำความรู้ไปเขียนสารคดีประเภทบทความได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
8.    สามารถนำความรู้ไปเขียนสารคดีประเภทท่องเที่ยวได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

อ้างอิง : https://www.gotoknow.org/posts/331335